ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตพืชอาหารที่สำคัญของโลกเนื่องจากตั้งอยู่ในเขตที่มีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นส่งผลให้สามารถผลิตพืชอาหารได้หลายชนิดได้แก่ ธัญพืชต่าง ๆ รวมถึงผัก และผลไม้ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตร มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ สามารถสร้างรายได้แก่ภาคการเกษตรหลายพันล้านบาทต่อปี แต่การผลิตสินค้าเกษตรของไทยยังประสบปัญหาการสูญเสียผลผลิตภายหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยทั้งจากผลผลิต และปัจจัยสภาพแวดล้อมสาเหตุที่สำคัญ คือการจัดการผลผลิตหลังการเกี่ยวที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นงานด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวจึงมีความสำคัญต่อการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าเกษตร โดยการเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตร แก้ไข และลดปัญหาการสูญเสียผลผลิตคงคุณภาพผลผลิตและการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตรของไทยมีมาตรฐานทัดเทียมกับประเทศอื่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้เปิดสอนหลักสูตรสาขาวิชาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเปิดหลักสูตรมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2534 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในสาขาวเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว สามารถแก้ปัญหาหลังการเก็บเกี่ยวของท้องถิ่นและประเทศชาติ โดยลดความเสียหายทั้งด้านปริมาณ คุณภาพ ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตผลเกษตร
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว (หลักสูตรสหสาขาวิชา)
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว (หลักสูตรสหสาขาวิชา) เป็นหลักสูตรที่ดำเนินการในรูปแบบสหสาขาวิชา ประกอบด้วยองค์ความรู้ด้านเกษตรศาสตร์ วิทยาศาสตร์วิศวกรรมศาสตร์ และอุตสาหกรรมเกษตร จึงเน้นให้มีการวิเคราะห์ปัญหา ดำเนินการวิจัยชั้นสูง พัฒนาและประยุกต์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อป้องกันหรือลดความเสียหาย หรือสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตผลทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณธรรมจริยธรรมในวิชาชีพ
วัตถุประสงค์ เพื่อผลิตดุษฎีบัณฑิตที่ :
1. มีความรู้ และทักษะในการวิเคราะห์ปัญหา และวิจัยอย่างลุ่มลึก มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อแก้ปัญหาในด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว
2. มีคุณธรรม จริยธรรม สามารถสื่อสารได้ดี มีมนุษยสัมพันธ์ และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
3. สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ และนำผลงานวิจัยค้นคว้าไปเผยแพร่ โดยการใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีสื่อสารได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ให้เกิดการพัฒนาความรู้ทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวที่ได้มาตรฐานสากล
อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐศักดิ์ กฤติกาเมษ
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิบูลย์ ช่างเรือ
3. รองศาสตราจารย์ ดร.เจิมขวัญ สังข์สุวรรณ